เจาะลึกเรื่องส่งออก พร้อมแนะนำผู้ช่วยคนสำคัญอย่าง Freight Forwarder

ส่งออกสินค้า

โลกในปัจจุบันนี้มีความแตกต่างจากสมัยก่อนมาก ด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ค่อนข้างก้าวกระโดด จนทำให้การติดต่อสื่อสารไร้พรมแดนมากยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าสิ่งนี้ส่งผลไปสู่การเปิดกว้างในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่น่าสนใจด้วย พ่อค้าแม่ขายหลายท่าน อาจจะเคยได้รับข้อความโอกาสทองจากคนที่อยู่ต่างประเทศว่าสนใจผลิตภัณฑ์และต้องการนำเข้าสินค้าไปขายในประเทศตน แต่กลับต้องเสียโอกาสนั้นเพราะไม่รู้ว่าควรเริ่มต้น หรือมีวิธีการดำเนินกระบวนการที่ถูกต้องอย่างไร วันนี้ Freight Rangers จะขอพาทุกคนมาทำความเข้าใจกับขั้นตอนการดำเนินการด้านการศุลกากรคร่าว ๆ และแนะนำอีกทางเลือกซึ่งก็คือบริการ Freight Forwarder ที่จะทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเป็นเรื่องง่ายให้ได้รู้กัน

วิธีส่งออกสินค้า

1.การลงทะเบียน

การลงทะเบียนเป็นผู้นำของเข้า ผู้ส่งของออก ตัวแทนผู้ขนส่ง ตัวแทนออกของ ผู้รับผิดชอบการบรรจุ และอื่น ๆ เป็นขั้นตอนแรกที่จำเป็นต้องทำ โดยกรมศุลกากรได้ออกประกาศให้บุคคลที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการใดเกี่ยวกับการศุลกากรต้องมาลงทะเบียนกับกรมศุลกากร เพื่อให้ทราบหน้าที่ความรับผิดชอบ และแสดงความสัมพันธ์ทางธุรกรรมระหว่างเอกชนต่อเอกชน ซึ่งวิธีการจดทะเบียนเป็นผู้นำของเข้า ผู้ส่งของออก หรือผู้ดำเนินการใด ๆ ทางศุลกากรนั้น สามารถดูได้ที่เว็บไซต์www.customs.go.thโดยตรง

ช่องทางการลงทะเบียน

ช่องทางการลงทะเบียนสำหรับผู้ประกอบการที่ประสงค์จะปฏิบัติพิธีการทางศุลการกรหรือดำเนินการใดเกี่ยวกับการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบันนี้สามารถทำได้ผ่าน 3 ช่องทางดังนี้

ลงทะเบียน ณ หน่วยรับบริการลงทะเบียนของกรมศุลกากร

การลงทะเบียน ณ หน่วยรับบริการลงทะเบียนของกรมศุลกากร สามารถลงทะเบียนได้ผ่านจุดบริการดังต่อไปนี้

  • ส่วนทะเบียนและสิทธิพิเศษ สำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร ชั้น 1 อาคาร 120 ปี กรมศุลกากร
  • ฝ่ายบริหารงานทั่วไป หรือหน่วยงานที่ได้รับอนุมัติให้ลงทะเบียน ณ สำนักงานหรือด่านศุลกากร

ลงทะเบียนผ่านระบบลงทะเบียนผู้มาติดต่อออนไลน์ Customs Trader Portal

การลงทะเบียนผ่านระบบลงทะเบียนผู้มาติดต่อออนไลน์ Customs Trader Portal นับเป็นอีกช่องทางที่อาจสะดวกสบายกับหลายคนมากขึ้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการจะต้องมีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” (Paotang) เพื่อลงทะเบียนผ่านช่องทางนี้ โดยรองรับเฉพาะ บุคคลธรรมดาสัญชาติไทยและนิติบุคคลที่กรรมการทั้งหมดมีสัญชาติไทยเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวัง คือ นิติบุคคลที่ยังไม่เคยจดทะเบียนภาษาอังกฤษกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะต้องดำเนินการจดทะเบียนชื่อภาษาอังกฤษเสียก่อนเข้าใช้ระบบนี้

ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมศุลกากร

ผู้ประกอบการสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมศุลกากร ซึ่งคือเว็บไซต์ Online Customs Registration ทั้งนี้ช่องทางข้างต้นต้องการใบรับรองทางอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Certificate) โดยสามารถขอได้จากผู้ให้บริการออกใบรับรองฯ (Certificate Authority)

อายุของทะเบียน

อายุของทะเบียนนั้น จะไม่มีอายุเวลาสำหรับผู้ลงทะเบียนที่ได้ดำเนินธุรกรรมกับกรมศุลกากรอย่างต่อเนื่อง แต่หากกรมศุลกากรพบว่าผู้ลงทะเบียนไม่ได้มีการดำเนินการด้านศุลกากรติดต่อกันภายในระยะเวลา 6 เดือนแล้ว ทางศุลกากรก็จะระงับการใช้ข้อมูลทะเบียนไป

2.การดำเนินกระบวนการทางศุลกากรในระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร

การดำเนินกระบวนการทางศุลกากรในระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร หรือที่เรียกว่าระบบพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร เกิดขึ้นเนื่องจากปัจจุบันกรมศุลกากรได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในกระบวนการการนำเข้า การส่งออก และการผ่านประเทศ

โดยผู้ที่ประสงค์จะดำเนินพิธีศุลกากรในระบบดังกล่าวนี้ จะต้องได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ส่งข้อมูลในระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสารเสียก่อน ซึ่งสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จะเป็นผู้ทดสอบโปรแกรมการส่งข้อมูลต่าง ๆ และอนุมัติให้เป็นผู้ส่งข้อมูลได้ การส่งข้อมูลสามารถดำเนินการได้ ตามนี้

  • ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก จัดหาโปรแกรมการส่งข้อมูลและลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ส่งด้วยตนเอง
  • ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก จ้างตัวแทนออกของที่มีโปรแกรมการส่งข้อมูลและลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นผู้ส่งให้
  • ใช้บริการผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส
  • ใช้บริการการบันทึกโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมการบันทึกข้อมูล 100 บาท นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมการผ่านพิธีการศุลกากร 200 บาท

หลังจากที่ได้จัดทำและส่งข้อมูลใบขนสินค้าในระบบพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ระบบกรมศุลกากรจะแจ้งให้ผู้นำเข้า ผู้ส่งออกมาชำระค่าภาษี และ ตรวจปล่อยของจาก
ศุลกากร

3.การดำเนินกระบวนการทางศุลกากรในรูปแบบเอกสาร

การดำเนินกระบวนการทางศุลกากรในรูปแบบเอกสาร สำหรับของบางประเภท ทำได้ในกรณีที่กรมศุลกากรได้กำหนดให้ของนำเข้า ส่งออกนั้น ไม่ต้องดำเนินพิธีการศุลกากรในระบบพีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่งผลให้ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกที่ไม่เคยลงทะเบียนกับกรมศุลกากร สามารถดำเนินการรับของ ส่งของ และชำระค่าภาษีอากรได้ โดยไม่ต้องมาลงทะเบียนเป็นผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกกับกรม

กระบวนการนำเข้าหรือส่งออก ที่ไม่ต้องปฏิบัติพิธีการในระบบพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่

การนำของเข้าทางไปรษณีย์

การนำของเข้าทางไปรษณีย์ยกตัวอย่างเช่น

  • ของที่ส่งมามีราคาศุลกากรไม่เกิน 1,500 บาท และไม่ใช่ของต้องห้ามนำเข้าหรือต้องขออนุญาตนำเข้า
  • ของที่มีลักษณะเป็นตัวอย่าง ใช้ได้เพียงการเป็นตัวอย่าง ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากของตัวอย่างนั้นได้

ของที่ได้รับตามสองลักษณะข้างต้นนี้ เป็นของที่มีกฎหมายบัญญัติให้ยกเว้นอากรทุกประเภท ดังนั้นกรมศุลกากรก็จะส่งมอบพัสดุให้กับบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นผู้นำของไปส่งให้ผู้รับต่อไป

อย่างไรก็ตาม จะมีกรณีที่ของจากผู้ส่งรายหนึ่งถึงผู้รับรายหนึ่งในคราวเดียวกัน โดยมีราคาของไม่เกิน 40,000 บาท และเจ้าหน้าที่ศุลกากรกับไปรษณีย์ไทย ได้ร่วมกันเปิดตรวจของ และเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ประเมินค่าภาษีอากรสำหรับพัสดุนั้น จะมีการส่งมอบของให้ไปรษณีย์ไทยนำไปรอ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ใกล้บ้านผู้รับของ พร้อมส่งแบบแจ้งการรับของให้ผู้รับของทราบ ให้ผู้รับสามารถไปรับของได้ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ที่แจ้ง และชำระค่าภาษีอากรขาเข้าและภาษีอื่น ๆ ณ จุดนั้น โดยจะได้รับใบเสร็จรับเงินของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นหลักฐานการชำระค่าภาษี

หากผู้รับของไม่ประสงค์จะรับของ หรือมีประเด็นร้องขอให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรทบทวนการประเมินค่าภาษีอากร ก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์เพื่อขอให้ดำเนินการได้ โดยถ้าต้องการขอให้ทบทวนการประเมินค่าภาษี ผู้รับของต้องพิมพ์เอกสารการขอทบทวนการประเมินจากเว็บไซต์ของกรมศุลกากร และส่งเอกสารพร้อมหลักฐานที่แสดงการซื้อขายของดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ เพื่อให้ส่งของนั้นกลับไปที่ทำการศุลกากร และ ผู้รับของไปดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรต่อไป

การส่งของออกไปต่างประเทศทางไปรษณีย์

การส่งของออกไปต่างประเทศทางไปรษณีย์โดยไม่ต้องจัดทำใบขนสินค้าขาออกในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร สามารถทำได้ ณ ที่ทำการไปรษณีย์โดยไม่ต้องดำเนินการใด ๆ กับกรมศุลกากร หากของดังกล่าวนั้นไม่เป็นของต้องห้าม หรือต้องขออนุญาตก่อนส่งออก หรือไม่เป็นของที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร หรือไม่ใช้สิทธิยกเว้นอากรตามภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 หรือไม่ประสงค์จะนำหลักฐานการส่งออกไปใช้เครดิตค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีดังต่อไปนี้

  • เป็นของทั่วไปที่ราคาไม่เกิน 10,000 บาท
  • เป็นอัญมณีที่มีราคาของไม่เกิน 50,000 บาท

แต่ถ้าการส่งออกพัสดุนี้เป็นการส่งตัวอย่างสินค้า หรือการส่งของออกที่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในเรื่องการเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องปฏิบัติพิธีการศุลกากรด้วยระบบพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสารเท่านั้น

การนำเข้าและส่งออกของบางชนิดทางด่านชายแดน

การนำเข้าและส่งออกของบางชนิดทางด่านชายแดนมีเงื่อนไขดังนี้

การนำเข้า

การนำเข้าของด้วยการติดตัวเข้ามาทางชายแดน หรือจุดผ่านแดนถาวร หรือจุดผ่านแดนชั่วคราว หรือจุดผ่อนปรนทางการค้า สามารถทำได้โดยเป็นของที่มีมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท หรืออยู่ในกรณีเป็นของต้องกำกัดในการนำเข้าตามกฎหมาย แต่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบให้นำเข้าได้ และผู้นำของเข้ามีเงินพร้อมที่จะชำระอากรให้เสร็จในวันนำเข้านั้น เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะคำนวณเงินค่าภาษีและออกใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานการชำระค่าภาษี

การส่งออก

การส่งออกทางด่านชายแดน สามารถทำได้หากมูลค่าของไม่เกิน 50,000 บาท และไม่เป็นของต้องเสียภาษีอากรขาออก ไม่เป็นของต้องห้าม หรือ ต้องกำกัดการส่งออก ไม่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ไม่ใช้สิทธิยกเว้นอากรตามภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ให้ยื่นใบแจ้งรายละเอียดสินค้าขาออก (กศก.153) เป็นแบบที่กรมศุลกากรกำหนดเพื่อกำกับการส่งออกของทางด่านชายแดน

การนำเข้า ส่งออก โดยใช้บริการผู้ประกอบการของเร่งด่วนไปรับส่งของที่สถานประกอบการ

การนำเข้า ส่งออก โดยใช้บริการผู้ประกอบการของเร่งด่วนไปรับส่งของที่สถานประกอบการมีเกณฑ์ดังต่อไปนี้

ของนำเข้า

  • ของนำเข้าที่เป็นเอกสารต่าง ๆ ที่ไม่ต้องเสียอากรตามภาค 2 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530
  • ของนำเข้าที่ส่งมายังผู้รับมีราคาศุลกากรไม่เกิน 1,500 บาท และไม่ใช่ของต้องห้ามนำเข้าหรือต้องขออนุญาตนำเข้า
  • ของนำเข้าที่มีลักษณะเป็นตัวอย่าง ใช้ได้เพียงการเป็นตัวอย่าง ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากของตัวอย่างนั้นได้
  • ของนำเข้ามูลค่าไม่เกิน 40,000 บาท ที่ไม่เป็นของต้องห้ามนำเข้า หรือเป็นของที่ต้องขออนุญาตนำเข้า และผู้นำของเข้ายินยอมให้ผู้ประกอบการของเร่งด่วนทำหน้าที่แทนตนในการดำเนินการด้านศุลกากร โดยผู้ประกอบการของเร่งด่วนจะทำหน้าที่ด้านการศุลกากรพร้อมชำระค่าภาษีอากรให้ก่อน และจะนำของไปส่งให้ที่สถานประกอบการของผู้รับ โดยกรมศุลกากรจะออกใบเสร็จรับเงินค่าภาษีอากรตามรายชื่อผู้นำของเข้า

ของส่งออก

  • ของส่งออกที่เป็นเอกสารต่าง ๆ ที่ไม่ต้องเสียอากรขาออก และไม่เป็นของต้องห้ามส่งออกหรือต้องขออนุญาตส่งออก
  • ของส่งออกมูลค่าไม่เกิน 500,000 บาท และไม่เป็นของต้องเสียภาษีอากรขาออก ไม่เป็นของต้องห้าม หรือ ต้องกำกัดการส่งออก ไม่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ไม่ใช้สิทธิยกเว้นอากรตามภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530

โดยของในกรณีทั้งหมดนี้ กรมศุลกากรอนุมัติให้ผู้ประกอบการของเร่งด่วนเป็นผู้ดำเนินการด้านพิธีการศุลกากรแทนผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออก

ดังนั้นผู้นำของเข้า หรือ ผู้ส่งของออกที่ตกลงให้ผู้ประกอบการของเร่งด่วนดำเนินการด้านพิธีการศุลกากรแทนตน จึงไม่ต้องลงทะเบียนเป็นผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกกับกรมศุลกากร

ส่งออกสินค้ากับFreight Rangers

ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หมดปัญหาการส่งออก

ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หมดปัญหาการส่งออกสินค้า เพราะหากจะให้เริ่มดำเนินการเองก็คงต้องใช้ทั้งเวลาในการศึกษาและดำเนินการด้านเอกสารมากทีเดียว ในปัจจุบันนี้เราจึงมีบริการFreight Forwarderหรือตัวแทนในการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศดี ๆ อย่าง Freight Rangers คอยดูแลพร้อมให้คำปรึกษาทุกท่านที่สนใจขยับขยายความเป็นไปได้ทางธุรกิจอยู่เสมอ ด้วยการดำเนินงานอย่างมืออาชีพ เชี่ยวชาญทั้งในด้านการนำเข้าและส่งออก การันตีด้วยประสบการณ์มากกว่า 10 ปีในธุรกิจโลจิสติกส์ รับรองว่าการส่งออกสินค้าจะไม่ใช่อุปสรรคสำหรับการเติบโตของธุรกิจคุณอีกต่อไป

สรุป

ขั้นตอนการดำเนินการด้านการศุลกากรค่อนข้างมีรายละเอียดที่ต้องอาศัยทั้งความเข้าใจและความชำนาญในการดำเนินการให้ถูกต้องเรียบร้อย ดังนั้นหากผู้ประกอบการท่านใดมีแผนที่จะส่งของไปต่างประเทศ และต้องการความสะดวก รวดเร็ว ก็ขอแนะนำให้ใช้บริการ Freight Forwarder กับบริษัทที่มากประสบการณ์อย่าง Freight Rangers ที่จะทำให้การส่งสินค้าออกต่างประเทศกลายเป็นเรื่องง่ายและทำได้อย่างถูกต้องครบทุกกระบวนการแน่นอน

Scroll to Top